คาร์ล เซแกน
คาร์ล เซแกน | |
---|---|
เกิด | 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1934 บรุกลิน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา |
เสียชีวิต | 20 ธันวาคม ค.ศ. 1996 ซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา | (62 ปี)
สัญชาติ | อเมริกัน |
อาชีพ | นักดาราศาสตร์ |
มีชื่อเสียงจาก | โครงการเซติ Cosmos: A Personal Voyage แผ่นจานทองคำในยานวอยเอจเจอร์ แผ่นจานทองคำในยานไพโอเนียร์ Contact เพลบลูดอต |
คาร์ล เซแกน (อังกฤษ: Carl Sagan; 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1934 – 20 ธันวาคม ค.ศ. 1996) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบรรยากาศของดาวเคราะห์ต่าง ๆ เซแกนได้ศึกษาว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นและมีวิวัฒนาการบนโลกอย่างไร สนใจถึงความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอื่นเป็นพิเศษ เซแกนเป็นคนริเริ่มความคิดที่จะติดตั้งแผ่นป้ายบนยานสำรวจอวกาศไพโอเนียร์ 10 ที่เป็นเหมือนจดหมายจากโลก ยานไพโอเนียร์ 10 ผ่านเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีใน ค.ศ. 1973 ก่อนที่จะออกไปยังขอบนอกของระบบสุริยะแล้วออกสู่อวกาศ แผ่นป้ายแบบเดียวกันติดไปกับยานสำรวจอวกาศไพโอเนียร์ 11 ในปีต่อมา
นอกจากงานด้านดาราศาสตร์แล้ว เซแกนยังมีชื่อเสียงจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Contact ซึ่งเกี่ยวกับความพยายามของมนุษย์ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก นิยายเรื่องนี้ ภายหลังได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน (ชื่อภาษาไทยคือ "คอนแทค อุบัติการณ์สัมผัสห้วงจักรวาล") นำแสดงโดย โจดี้ ฟอสเตอร์
ประวัติ
[แก้]คาร์ล เซแกน เกิดที่บรุกลิน นครนิวยอร์ก[1] ในครอบครัวชาวยิวรัสเซีย พ่อของเขาคือ แซม เซแกน พนักงานโรงงานทอผ้าที่อพยพมาจากรัสเซีย แม่ของเขาคือ ราเชล มอลลี กรูเบอร์ เป็นแม่บ้าน ชื่อ คาร์ล มาจากชื่อแม่ของราเชล คือ คลารา เซแกนจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมราห์เวย์ ในเมืองราห์เวย์ นิวเจอร์ซีย์ ใน ค.ศ. 1951[2] และได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ที่นี่เขาได้เข้าร่วมสมาคมดาราศาสตร์รายร์สัน[3] ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมใน ค.ศ. 1954 วิทยาศาสตร์บัณฑิตใน ค.ศ. 1955 วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาฟิสิกส์ ใน ค.ศ. 1956 จากนั้นจึงได้รับดุษฎีบัณฑิตในปี ค.ศ. 1960 ในสาขาดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เมื่ออายุได้ 26 ปี[4] ระหว่างที่ศึกษาปริญญาตรี เซแกนใช้เวลาว่างทำงานในห้องทดลองของนักพันธุวิทยา H. J. Muller ต่อมาในปี 1960-1962 เขาได้รับทุนวิจัย Miller Fellow ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ปี 1962-1968 ได้เข้าทำงานที่หอดูดาวฟิสิกส์ดาราศาสตร์สมิธโซเนียน ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์
เซแกนเป็นผู้บรรยายและทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทุกปีจนถึง ค.ศ. 1968 จึงได้ย้ายไปอยู่มหาวิทยาลัยคอร์เนลในนิวยอร์ก เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ที่คอร์เนลใน ค.ศ. 1971 และได้เป็นผู้อำนวยการห้องทดลองวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ที่นี่ ช่วง ค.ศ. 1972-1981 เซแกนได้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิทยุสำหรับฟิสิกส์และอวกาศ ที่คอร์เนล
เซแกนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับโครงการสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกานับแต่แรกเริ่ม นับแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา เขาทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์การนาซา หน้าที่หนึ่งขณะที่เขาทำงานให้กับองค์การอวกาศแห่งนี้คือการบรรยายแก่นักบินอวกาศในโครงการอพอลโลก่อนที่พวกเขาจะไปสู่ดวงจันทร์ เซแกนให้การสนับสนุนต่อโครงการยานอวกาศแบบขับเคลื่อนด้วยหุ่นยนต์หลายโครงการที่ออกไปสำรวจระบบสุริยะตลอดช่วงชีวิตของเขา
เขาเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการนำข้อมูลข่าวสารอันเป็นสากลให้ติดไปบนยานอวกาศที่ตั้งเป้าเดินทางออกนอกระบบสุริยะ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่อาจมาพบมันเข้าจะได้เข้าใจได้ เซแกนเป็นผู้เรียบเรียงข้อมูลชุดแรกที่ส่งออกไปสู่อวกาศในรูปของแผ่นจานทองคำ ที่ติดไปกับยานสำรวจอวกาศ ไพโอเนียร์ 10 ส่งขึ้นสู่อวกาศใน ค.ศ. 1972 ต่อมายานไพโอเนียร์ 11 ก็ได้นำแผ่นจานลักษณะเดียวกันนี้อีกแผ่นหนึ่งไปด้วยเมื่อขึ้นสู่อวกาศในปีถัดไป เซแกนยังคงปรับแต่งแผ่นจานข้อมูลนี้อยู่ตลอดชีวิตของเขา ชุดที่บรรจงสร้างอย่างประณีตที่สุด คือ แผ่นจานทองคำของวอยเอจเจอร์ ที่เขาพัฒนาและติดตั้งไว้บนยานวอยเอจเจอร์ ที่ถูกส่งออกไปใน ค.ศ. 1977 นอกจากนี้เซแกนยังมักยื่นข้อเสนอกับเงินทุนสนับสนุนโครงการกระสวยอวกาศและสถานีอวกาศ ให้นำไปพัฒนาโครงการสำรวจอวกาศด้วยหุ่นยนต์แทน[5]
เซแกนสอนวิชาการคิดเชิงวิพากษ์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลจนถึง ค.ศ. 1996 ซึ่งเขาเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับเนื้อเยื่อในโพรงกระดูกอันพบได้ค่อนข้างยาก วิชาที่เซแกนสอนนั้นจำกัดจำนวนที่นั่งเพียงภาคเรียนละ 20 ที่นั่ง แต่ในแต่ละปี มีนักศึกษาหลายร้อยคนที่ขอลงทะเบียนเรียนกับเขา หลังจากเซแกนเสียชีวิต หลักสูตรนี้ก็ปิดตัวลง จนกระทั่งถึง ค.ศ. 2000 จึงได้เปิดสอนอีกครั้งโดย Dr. Yervant Terzian
ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์
[แก้]เซแกนให้ความสนใจกับการสำรวจพื้นผิวอุณหภูมิสูงของดาวศุกร์ ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 ยังไม่มีใครทราบถึงสภาวะที่แท้จริงของพื้นผิวดาวดวงนั้น เซแกนได้จัดทำรายการความเป็นไปได้ในรายงานฉบับหนึ่ง ซึ่งภายหลังได้เผยแพร่ในหนังสือของ Time-Life ชื่อ Planets และมีชื่อเสียงมาก มุมมองของเซแกนคือ พื้นผิวดาวศุกร์แห้งผากอย่างยิ่งและร้อนมาก ตรงกันข้ามกับภาพของสรวงสวรรค์ที่เคยจินตนาการกันมาแต่ก่อน เขาได้ตรวจสอบการแผ่รังสีคลื่นวิทยุจากดาวศุกร์และสรุปว่าอุณหภูมิพื้นผิวของดาวศุกร์สูงถึง 500 °C (900 °F) เมื่อครั้งที่เป็นนักวิทยาศาสตร์รับเชิญไปยังห้องทดลองการขับเคลื่อนด้วยไอพ่นของนาซ่า เขาได้ช่วยเหลือโครงการมาริเนอร์อันเป็นภารกิจสู่ดาวศุกร์ โดยทำหน้าที่ออกแบบยานและบริหารโครงการ ผลสำรวจจากยานมาริเนอร์ 2 ในปี ค.ศ. 1962 ช่วยยืนยันข้อสรุปของเซแกนเกี่ยวกับพื้นผิวของดาว
เซแกนเป็นนักวิทยาศาสตร์กลุ่มแรกๆ ที่ทำนายว่า ไททัน ดวงจันทร์ของดาวเสาร์น่าจะมีพื้นผิวห่อหุ้มด้วยมหาสมุทร และ ยูโรปา ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีน่าจะมีชั้นใต้พื้นผิวเต็มไปด้วยน้ำเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้ยูโรปาเป็นดาวที่มีความเป็นไปได้สำหรับอยู่อาศัย[6] ในเวลาต่อมา ยานอวกาศกาลิเลโอได้ยืนยันการมีอยู่ของชั้นผิวมหาสมุทรของยูโรปา เซแกนยังมีส่วนช่วยไขปัญหาความลึกลับของหมอกแดงที่เห็นอยู่บนไททัน เขาเห็นว่ามันคือโมเลกุลอินทรีย์อันซับซ้อนที่ตกลงเหมือนฝนสู่พื้นผิวของดวงจันทร์
เขายังให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องกับชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลบนดาวอังคาร เซแกนเป็นผู้ริเริ่มทฤษฎีว่าชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นร้อนจัดมาก และมีความหนาแน่นสูงมากโดยมีแรงดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลงไปใกล้ถึงระดับพื้นผิว เขายังคาดการณ์ถึงสภาวะโลกร้อน อันเป็นอันตรายที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จากฝีมือมนุษย์ โดยโยงปรากฏการณ์นี้เข้ากับการพัฒนาการของดาวศุกร์อันมีลักษณะคล้ายปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งกลายเป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนและไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เซแกนกับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล เอ็ดวิน เออร์เนสต์ ซัลปีเตอร์ ได้ทำนายถึงชีวิตที่มีอยู่ในกลุ่มเมฆของดาวพฤหัสบดี เนื่องจากชั้นบรรยากาศอันหนาแน่นของดาวนั้นอุดมไปด้วยโมเลกุลอินทรีย์ เซแกนเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสีของพื้นผิวดาวอังคาร และสรุปว่าไม่มีฤดูกาลหรือปรากฏการณ์ใดๆ อันเนื่องมาจากพืชพันธุ์ไม้บนดาวดวงนั้นดังที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันในเวลานั้น เขาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงของสีบนพื้นผิวเป็นผลจากฝุ่นผงที่ถูกพายุพัดเท่านั้น
ผลงานของเซแกนที่สร้างชื่อเสียงแก่เขามากที่สุด คืองานวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตต่างดาว รวมถึงการทดลองสร้างกรดอมิโนขึ้นจากองค์ประกอบเคมีพื้นฐานโดยอาศัยรังสี[7]
ใน ค.ศ. 1994 เซแกนได้รับเหรียญรางวัล Public Welfare Medal ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดขององค์กรวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Academy of Sciences) ในฐานะ "ผู้อุทิศตนในการประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ"[8]
รางวัลและเกียรติยศ
[แก้]- รางวัลประจำปีสำหรับรายการโทรทัศน์ยอดเยี่ยม - 1981 - มหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ - PBS series Cosmos
- Apollo Achievement Award - องค์การนาซา
- เหรียญรางวัลนาซา ผู้อุทิศตนแก่สาธารณประโยชน์ - องค์การนาซา (ได้รับ 2 ครั้ง)
- รางวัลเอ็มมี - Outstanding Individual Achievement - 1981 - PBS series Cosmos
- รางวัลเอ็มมี - Outstanding Informational Series - 1981 - PBS series Cosmos
- Exceptional Scientific Achievement Medal - องค์การนาซา
- Helen Caldicott Leadership Award - Women's Action for Nuclear Disarmament
- รางวัลฮิวโก - 1981 - Cosmos
- Humanist of the Year - 1981 - Awarded by the American Humanist Association
- In Praise of Reason Award - 1987 - คณะกรรมการการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกล่าวอ้างปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ (Committee for the Scientific Investigation of Claims of the Paranormal)
- รางวัลไอแซก อสิมอฟ - 1994 - คณะกรรมการการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกล่าวอ้างปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ
- รางวัล John F. Kennedy Astronautics - สมาคมนักบินอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา
- รางวัล จอห์น ดับเบิลยู. แคมป์เบล อนุสรณ์ - 1974 - Cosmic Connection: An Extraterrestrial Perspective
- รางวัล Joseph Priestley - "สำหรับการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ"
- Klumpke-Roberts Award จาก สมาคมดาราศาสตร์แห่งแปซิฟิก - 1974
- เหรียญรางวัล Konstantin Tsiolkovsky - มอบให้โดยสมาพันธ์นักบินอวกาศโซเวียต
- รางวัลโลกัส 1986 - Contact
- รางวัลโลเวลล์ โทมัส - ชมรมนักสำรวจ - โอกาสครบรอบ 75 ปี
- Masursky Award - สมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน
- ทุนวิจัยมิลเลอร์ - สถาบันมิลเลอร์ (1960–1962)
- หอเกียรติยศนิวเจอร์ซีย์ - 2009 inductee [9]
- Oersted Medal - 1990 - สมาคมครูฟิสิกส์แห่งอเมริกัน
- Peabody Award - 1980 - PBS series Cosmos
- Prix Galbert - The international prize of Astronautics
- เหรียญรางวัล Public Welfare Medal - 1994 - องค์กรวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
- รางวัลพูลิตเซอร์ ประเภทวรรณกรรมทั่วไป - 1978 - The Dragons of Eden
- SF Chronicle Award - 1998 - Contact
- ได้รับยกย่องเป็น "99th Greatest American" (ชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ คนที่ 99) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 2005 จากรายการ Greatest American ทางช่อง Discovery Channel
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Poundstone, William (1999). Carl Sagan: A Life in the Cosmos. New York: Henry Holt & Company. pp. 363–364, 374–375. ISBN 0-8050-5766-8.
- ↑ Davidson, Keay (1999). Carl Sagan: A Life. John Wiley & Sons. pp. 33–41. ISBN 0-471-25286-7.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-19. สืบค้นเมื่อ 2009-04-24.
- ↑ Graduate students receive first Sagan teaching awards
- ↑ Charlie Rose interview, January 5, 1994
- ↑ งานวิจัยของเซแกนในสาขาวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ ได้รวบรวมไว้โดย วิลเลียม พาวด์สโตน ในชีวประวัติเซแกนที่พาวด์สโตนรวบรวมไว้ มีบันทึกรายการบทความทางวิทยาศาสตร์ของเซแกนที่พิมพ์เผยแพร่ระหว่าง ค.ศ. 1957-1998 ความยาวกว่า 8 หน้า รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับผลงานทางวิทยาศาสตร์ของเซแกนส่วนมากนำมาจากบทความวิจัยเหล่านี้ เช่น : Sagan, C., Thompson, W. R., and Khare, B. N. Titan: A Laboratory for Prebiological Organic Chemistry, Accounts of Chemical Research, volume 25, page 286 (1992). ซึ่งเป็นบทความอธิบายถึงรายละเอียดงานวิจัยเกี่ยวกับไททัน จาก Encyclopedia of Astrobiology, Astronomy, and Spaceflight.
- ↑ The Columbia Encyclopedia. "Sagan, Carl Edward". Sixth Edition. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-05-02.
- ↑ "Carl Sagan" เก็บถาวร 2007-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Planetary Society. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-05-14.
- ↑ New Jersey to Bon Jovi: You Give Us a Good Name[ลิงก์เสีย] Yahoo News, February 2, 2009
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- The Carl Sagan Portal
- Carl Sagan at the Internet Movie Database
- Can We Know the Universe? เก็บถาวร 2008-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – 1979 essay โดย Carl Sagan นำมาจากหนังสือของเขา ชื่อ Broca's Brain